อุบลฯ องคมนตรีลงพื้นที่ติดตามและขับเคลื่อน

admin2

อุบลฯ องคมนตรีลงพื้นที่ติดตามและขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2565 นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตาม ขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี รองประธานกรรมการฯ พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ ลงพื้นที่ติดตาม ขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จำนวน 2 โครงการ
เวลา 09.40 น. ที่ห้องประชุมสำนักชลประทานที่ 7 ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี องคมนตรีและคณะฯ ร่วมประชุมรับฟังสรุปผลการดำเนินงานการติดตามและขับเคลื่อนโครงการ ของคณะอนุกรรมการฯ ที่ผ่านมาจาก นายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. โดยพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโครงการอันเนื่อง ที่อยู่ในโครงการขับเคลื่อน จำนวน 26 โครงการ ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 15 โครงการ เช่น โครงการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำวังคางฮูงในลำห้วยทวน อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี โครงการขุดลอกหนองหลวงบริเวณบ้านโคกกลาง อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโครงการ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตามที่ราษฎรขอพระราชทาน จำนวน 25 โครงการ ปัจจุบันดำเนินแล้วเสร็จ สร้างประโยชน์ให้แก่ราษฎรไปแล้ว 12 โครงการ เช่นโครงการอ่างเก็บน้ำซำตมขาวพร้อมท่อส่งน้ำ อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี โครงการพัฒนาแหล่งน้ำห้วยหินพร้อมอาคารประกอบ อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ เป็นต้น จากนั้นผู้แทนกรมชลประทาน ได้รายงานการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำชี ต่อมา องคมนตรีและคณะเดินทางลงพื้นที่โครงการแก้มลิงกุดนาแซงพร้อมอาคารประกอบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองบ่อ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำสองฝั่งลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การนี้ ได้รับฟังรายงานผลการดำเนินงานซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างกำหนดแผนการดำเนินงาน สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2539 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริ ลำน้ำชีในฤดูน้ำหลาก น้ำท่วมพื้นที่สองฝั่งซึ่งเป็นห้วย หนอง บึง และพื้นที่สาธารณะมาก เมื่อถึงเวลาน้ำลด น้ำที่ท่วมพื้นที่ดังกล่าวก็ลดตามไปด้วย ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำตามเดิม ให้พิจารณาหาวิธีเก็บกักน้ำให้อยู่ในพื้นที่ เพื่อใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกต่อมาพระราชทานพระราชดำริเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2540 ให้สำรวจพื้นที่อ่างเก็บน้ำรอบ ๆ จ.ขอนแก่น ตั้งแต่อำเภอมัญจาคีรีขึ้นมาทางเหนือ เพื่อพิจารณาขุดลอกอ่างเก็บน้ำเสริมคันดินกั้นน้ำให้สูง เพื่อเก็บปริมาณน้ำให้ได้มากที่สุดในฤดูฝน ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการทำนาปรังได้ รวมทั้งช่วยป้องกันน้ำท่วมตัวเมืองขอนแก่นในฤดูที่มีฝนตกหนัก นอกจากนั้นจะช่วยให้สามารถนำน้ำมาใช้ในโครงการเกษตรน้ำฝนตามแนวทฤษฎีใหม่ได้ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงาน กปร. ประสานกรมชลประทาน ดำเนินการโครงการ โดยกำหนดแผนการขุดลอกแก้มลิงนาแซงพร้อมอาคารประกอบ เพื่อเพิ่มปริมาณความจุน้ำจากอ่างเก็บน้ำเดิมจาก 222,000 ลูกบาศก์เมตร เพิ่มเป็น 1,110,000 ลูกบาศก์เมตร พร้อมก่อสร้างอาคารบังคับน้ำสองทางพร้อมท่อลอด ทางสัญจร ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสร้างประโยชน์ให้แก่ราษฎรหมู่บ้านท่าสนามชัย หมู่ที่ 13 หมู่บ้านสำลาก หมู่ที่ 12 และหมู่บ้านหนองบ่อ หมู่ที่ 1,2,3,4 ตำบลหนองบ่อ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี หมู่บ้านใกล้เคียงมีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ สนับสนุนพื้นที่ทำการเกษตรได้ จำนวน 1,300 ไร่ นอกจากนี้ยังมีแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีนอาชีพเสริมจากประมงซึ่งจะสร้างรายได้ในอนาคต ต่อไป จากนั้นเวลา 15.00 น. เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำลำห้วยบอนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสีวิเชียร อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี การนี้รับฟังรายสรุปผลการดำเนินโครงการฯ ก่อนลงพื้นที่บริเวณจุดก่อสร้างโครงการฯ โดยเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2539 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำห้วยบอน ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามที่นายบุญเหลือ จันทรภักดี อดีตผู้ใหญ่บ้านวารีอุดม หมู่ที่ 1 ต.สีวิเชียร อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ขอพระราชทานโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยบอนบริเวณพื้นที่บ้านน้ำยืน หมู่ที่ 6 ต.โซง อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากความแห้งแล้ง กำหนดระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี 2563-2567 โดยในปี 2563 คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กปร. สนับสนุนงบประมาณให้กรมชลประทานในการเปิดหัวงานเพื่อเตรียมความพร้อม ประกอบด้วย ถนนเข้าหัวงาน งานรางระบายน้ำคอนกรีตดาด และงานท่อลอดถนน เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จก็จะสร้างประโยชน์ให้แก่ราษฎรบริเวณตำบลโซงและตำบลสีวิเชียร รวม 9 หมู่บ้าน มีแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และสนับสนุนพื้นที่การเกษตรในฤดูฝน 5,000 ไร่ ในฤดูแล้ง 1,500 ไร่ เป็นแหล่งเพาะ ขยายพันธุ์สัตว์น้ำ บรรเทาปัญหาอุทกภัยและลดความเสียหายจากน้ำท่วมด้านท้ายน้ำ รวมทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจและเกิดอาชีพต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นต้นทุนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร ต่อไป จากการติดตามขององคมนตรีครั้งนี้ ได้พบปะพูดคุยกับราษฎรทั้ง 2 โครงการ รับทราบความเป็นอยู่ ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้แก่ราษฎรสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้เกิดประโยชน์สุขแก่ราษฎรอย่างยั่งยืน ต่อไป

Next Post

อำนาจเจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจ ภาค 3

อำนาจเจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจ ภาค 3 ลงพื้นที่จี้ใ […]

ข่าวภูธร