องคมนตรี ในฐานะประธานกรรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ตรวจเยี่ยม

admin2

องคมนตรี ในฐานะประธานกรรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ตรวจเยี่ยมและติดตามงานในพื้นที่ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เช้าวันศุกร์ที่ 12 มีนาคม 2564 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เดินทางมาติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น ซึ่งแต่เดิมเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวจีนคณะชาติที่อพยพเข้ามาอยู่ตั้งแต่ พ.ศ. 2504 จนกระทั่งใน พ.ศ.2524 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จเยี่ยมราษฎรบ้านแม่ปูนหลวง และทรงกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ปูนหลวงขึ้น เพื่อส่งเสริมอาชีพจากเดิมที่ราษฎรมีรายได้จากการเก็บใบชาจากต้นชาป่า หรือชาอัสสัม แปรรูปเป็นชาอบแห้งออกจำหน่ายสร้างโอกาสและรายได้

จากการสำรวจพื้นที่เพื่อทำขอบเขตของศูนย์ฯ พบว่า พื้นที่บริเวณบ้านห้วยน้ำขุ่น ซึ่งมีเขตติดต่อกับบ้านแม่ปูนหลวงมีการลักลอบปลูกฝิ่นจำนวนมาก จึงแบ่งการปฏิบัติงานออกเป็น 2 ส่วน คือทีมของมหาวิทยาลัยแม่โจ้รับผิดชอบหมู่บ้านแม่ปูนหลวง และทีมของฝ่ายเกษตรที่สูงเชียงราย สังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร รับผิดชอบหมู่บ้านห้วยน้ำขุ่น ต่อมา จึงได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่นอย่างเป็นทางการ ใน พ.ศ. 2526 ปัจจุบันศูนย์ฯ ห้วยน้ำขุ่นมีพื้นที่รับผิดชอบจำนวน 9 หมู่บ้าน 13 หย่อมบ้าน ประชากรเป็นชนเผ่าจีนยูนาน อาข่า ปกาเกอะญอ ลาหู่ และชนเผ่าอาเข่อ ซึ่งมีแห่งเดียวในประเทศไทย มีจำนวน 2,018 ครัวเรือน ประชากรรวม 8,133 คน

สำหรับพืชที่ได้รับการส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรเป็นหลัก คือ กาแฟพันธุ์อาราบิกาและชา รวมทั้ง ยังมีผักและไม้ผลซึ่งปลูกภายใต้ระบบมาตรฐานอาหารปลอดภัย ทำให้เกษตรกรมีรายได้โดยเฉลี่ย 95,000 บาท/ครัวเรือน/ปี โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากภาคการเกษตร

ในด้านสังคมศูนย์ฯ ห้วยน้ำขุ่นได้สนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของคนและชุมชนให้สามารถรวมกลุ่มเกิดการพึ่งพาตนเอง โดยกลุ่มสหกรณ์ในพื้นที่มีมาตรฐานอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านแม่จันใต้ ที่รวมกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์กาแฟออกจำหน่าย มีรายได้หมุนเวียนในกลุ่มมากกว่าหนึ่งแสนบาท และยังมีกลุ่มหัตถกรรมผ้าปักอาข่าของบ้านป่าเกี๊ยะอีกด้วยนอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังเน้นการดำเนินงานส่งเสริมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่ โดยส่งเสริมการปลูกไม้ผลยืนต้นได้แก่ ต้นอาโวคาโด บ๊วย และแมคคาเดเมีย เพื่อสร้างพื้นที่ป่าภายใต้โครงการสวมหมวกให้ดอย ทำให้มีผลพลอยได้ กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้อีกทางหนึ่งโดยในปี พ.ศ.2564 มีเป้าหมายปลูก 166 ไร่ พร้อมทั้งจัดโครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร โดยร่วมกับหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ยางมิ้น สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กรมพัฒนาที่ดิน รวมถึงหน่วยราชการปกครองท้องถิ่น และชุมชน ในปี พ.ศ.2563 พื้นที่รวม 774 ไร่

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น ดำเนินการประสานความร่วมมือกับหน่วยราชการทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ตามนโยบายของมูลนิธิโครงการหลวง โดยบูรณาการแผนชุมชนร่วมกับหน่วยงานรัฐ องค์กรท้องถิ่น และกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อพัฒนาปัจจัยพื้นฐานในปัจจุบัน ได้แก่ การก่อสร้างระบบน้ำดื่ม โดยความร่วมมือของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล การสร้างฝายระบบส่งน้ำ และบ่อพักน้ำ โดยกรมทรัพยากรน้ำ การก่อสร้างระบบอนุรักษ์ดินและน้ำและระบบกระจ่ายน้ำสู่แปลงเกษตรกร โดยกรมพัฒนาที่ดิน การก่อสร้างอาคารคัดบรรจุผลผลิตโดยงบบูรณาการจากจังหวัดเชียงราย ก่อนเดินทางกลับ องคมนตรียังได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น พร้อมทั้งหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันพัฒนางานในพื้นที่ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้รับพระราชทาน คือการสร้างความอยู่ดีกินดีแก่ราษฎร มุ่งรักษาและสร้างสมดุลของระบบนิเวศน์ในพื้นที่เพื่อไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นราบ เร่งรณรงค์และสร้างจิตสำนึกให้เกษตรกรผลิตพืชปลอดภัย โดยเน้นการใช้สารชีวภัณฑ์ ซึ่งเป็นจุดเด่นของผลผลิตโครงการหลวงที่ประชาชนเชื่อมั่น รวมทั้งสร้างความความเข้าใจกับราษฎรถึงเป้าหมายในการเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนของมูลนิธิโครงการหลวง เพื่อให้คนมีอาชีพ มีรายได้ที่พอเพียง และช่วยดูแลรักษาธรรมชาติอย่างสมดุล เพื่อให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่า ทรัพยากร และธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้ ยังขอให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ทุกคนร่วมกัน

สมคิด อินต๊ะเนตร รายงาน

Next Post

นฝ.นศท.มทบ.37 จัดกำลังพลจิตอาสาร่วมบริจาคโลหิต

Post Views: 288 นฝ.นศท.มทบ.37 จัดกำลังพลจิตอาสาร่ว […]

ข่าวภูธร