อยุธยา บริษัท สิ่งแวดล้อมสยาม จก. เปิดเวทีประชาคมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ท่าเทียบเรือตำบลราชคราม ครั้งที่ 1อยุธยาเมืองกรุงเก่า บริษัท สิ่งแวดล้อมสยาม จำกัด เปิดเวทีประชาคมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ต่อขอบเขตการศึกษาและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการท่าเทียบเรือ บริษัท พูลวณิชย์ จำกัด (เปลี่ยนวัตถุประสงค์) ตำบลราชคราม อำเภอบางไทร เพื่อเผยแพร่ข้อมูลสาระสำคัญ ความเป็นมา รายละเอียดโครงการ และขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต่อผู้มีส่วนได้เสีย และผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาโครงการ พร้อมทั้งให้ประชาชน รวมแสดงความคิดเห็น ข้อกังวลใจ ข้อเสนอแนะที่มีต่อโครงการ
เวลา 09.30 น. วันนี้ นายวัชระ กระแสร์ฉัตร์ นายอำเภอบางปะอิน เป็นประธานในพิธีเปิดเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 ต่อขอบเขตการศึกษาและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการท่าเทียบเรือ บริษัท พูลวณิชย์ จำกัด (เปลี่ยนวัตถุประสงค์) ตำบลราชคราม อำเภอบางไทร โดยบริษัท สิ่งแวดล้อมสยาม จำกัด ดำเนินการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมี คุณธีรวีร์ ปาติปา ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม บรรยายความเป็นมาของโครงการ วัตถุประสงค์ของโครงการ ขอบเขตของการศึกษารูปแบบการพัฒนาโครงการ และแนวทางการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ คุณปราโมทย์ ทองย่น ผู้แทน บริษัท พูลวณิชย์ จำกัด (เจ้าของโครงการ) ผู้แทนหน่วยงานราชการ ผู้แทนสถาบันการศึกษา ศาสนสถาน สถานพยาบาล ผู้แทนสถานประกอบการ ผู้นำชุมชน องค์กรเอกชน สื่อมวลชน ร่วมรับฟังฯ ณ หอประชุมอำเภอบางปะอิน หอประชุมริมแม่น้ำ จ.พระนครศรีอยุธยา นายวัชระ กระแสร์ฉัตร์ กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมาการประกอบกิจการท่าเทียบเรือในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังไม่มีข้อบังคับเรื่องขนาดของเรือเรือ ที่สามารถขนถ่ายสินค้าผ่านท่าเทียบเรือได้ อีกทั้งเรือมีขนาดที่ไม่ใหญ่มากและไม่ถึง 500 ตันกรอส แต่สถานการณ์ปัจจุบัน เรือขนส่งสินค้ามีขนาดที่ใหญ่เกินกว่า 500 ตันกรอส เนื่องจากการลดต้นทุนของการขนส่งที่จะส่งต่อไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ กรมเจ้าท่าซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลการประกอบกิจการขนส่งทางน้ำ จึงได้ออกระเบียบว่าด้วยการขอเปลี่ยนวัตถุประสงค์หรือประเภทการใช้ท่าเทียบเรือขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส ให้สามารถใช้ท่าเทียบเรือขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสได้ พ.ศ.2563
ซึ่งจากประกาศของกรมเจ้าท่าดังกล่าว ได้สอดคล้องกับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้กำหนดให้โครงการประเภทท่าเทียบเรือที่รองรับเรือขนาดตั้งแต่ 500 ตันกรอสขึ้นไป หรือมีความยาวหน้าท่า ตั้งแต่ 100 เมตร หรือมีพื้นที่ท่าเทียบเรือรวมตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม นำเสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาก่อนการดำเนินการโครงการ สอดคล้องตามข้อกำหนดในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาขออนุญาตตามระเบียบของกรมเจ้าท่า ต่อไป
ด้วยเหตุผลข้างต้น ส่งผลให้ท่าเทียบเรือหลายแห่ง ซึ่งรวมถึง ท่าเทียบเรือของ บริษัท พูลวณิชย์ จำกัด ถึงแม้จะเปิดดำเนินการมาแล้วก็ตาม จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังกล่าว ถ้าหากมองภาพโดยรวมน่าจะเป็นการดีที่จะทำให้มีการควบคุมและป้องกัน ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการของท่าเทียบเรือในหลายมิติที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นที่มาของการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น ที่มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความเข้าใจร่วมกัน