พ่อเมืองแพร่ ติดตามการดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ อ.เมืองแพร่ เมื่อเวลา 09.30 น วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ห้องประชุมอำเภอเมืองแพร่ นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแพร่ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแพร่ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานแพร่ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 แพร่ ท้องถิ่นจังหวัดแพร่ เกษตรจังหวัดแพร่ และประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่ ลงพื้นที่อำเภอเมืองแพร่ เพื่อตรวจติดตามการดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ภายใต้เป้าหมายจังหวัดแพร่มีคุณภาพอากาศดี ไม่มีการเผาป่า และการเผาในที่โล่ง เพื่อประชาชนสุขภาพดี ด้วยความร่วมมือร่วมใจของประชาชน และทุกภาคส่วนเน้นขับเคลื่อนชุดปฏิบัติการระดับหมู่บ้านดำเนินการอย่างเข้มข้น มีผลงานเป็นรูปธรรมชัดเจน โดยการใช้ระบบบัญชาการเหตุการณ์แบบ Single Command ทั้งระดับจังหวัด และระดับอำเภอ โดยมีตัวชี้วัดความสำเร็จจำนวนจุดความร้อนลดลงร้อยละ 20 จำนวน PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานลดลงร้อยละ 20 หรือไม่เกิน 53 วัน พื้นที่เผาไหม้ลดลงร้อยละ 20 จากปี 2563
ทั้งนี้นายสมศักดิ์ สุขประเสริฐ นายอำเภอเมืองแพร่ ได้นำเรียนถึงแผนงานโครงการในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยการก่อสร้างทำนบกระสอบทรายชั่วคราวจำนวน 7 แห่ง แบ่งเป็นแม่น้ำยม 5 แห่ง และลำห้วยสาขา 2 แห่ง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 3 เครื่อง ขุดลอกลำน้ำแม่หล่าย เจาะบาดาลจำนวน 2 บ่อ ในพื้นที่ตำบลสวนเขื่อน การแจกจ่ายน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค ทางองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทุกแห่งดำเนินการ พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร มีพื้นที่ตำบลห้วยม้า หมู่ที่ 1-14 การเตรียมการแก้ไขปัญหาภัยแล้งส่วนใหญ่เป็นโครงการก่อสร้างรางน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก การก่อสร้างบ่อบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์ ขุดบ่อน้ำตื้น การผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่ถางเพื่อการเกษตรพร้อมระบบส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่ถางถึงลำเหมืองการเกษตรสำหรับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เน้นใช้มาตรการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับอำเภอแบบ Single Command โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการหมู่บ้าน จัดชุดจิตอาสา ชุดปฏิบัติการประจำหมู่บ้าน เพื่อร่วมปฏิบัติการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวัง ลาดตระเวน และดับไฟในพื้นที่ มาตรการสร้างความตระหนัก จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์เชิงรุก เคาะประตูบ้านพบปะถึงไร่สวน จัดทำบัญชีกลุ่มเสี่ยงเข้าพื้นที่ป่า ขอความร่วมมืองดเผาอย่างเด็ดขาด จัดอบรมเพื่อเพิ่มทักษะการควบคุมไฟป่า และสร้างความรู้ความเข้าใจในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น จัดทำธรรมนูญหมู่บ้านเพื่อบังคับใช้ ควบคุมไม่ให้มีการเผา และจัดตั้งจุดคัดกรองคนเข้าป่าในพื้นที่เสี่ยง 6 ตำบลด้วย
ธีระพงษ์ ธงออน/แพร่