ยกนิ้วให้ !!! เพื่อน นศ.เทคนิคแพร่ทึ่งในผลงาน หลังเพื่อนนศ.แผนกอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับ ชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด กองกำกับการสืบสวน ตร.ภูธร:แพร่ ทดสอบ “หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 ที่แผนกอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคแพร่ ร.ต.อ.วิษณุ ชมพูเมืองชื่น หัวหน้าชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด กองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดแพร่ ร่วมกับเจ้าหน้าที่เข้าทดสอบอุปกรณ์หุ่นยนต์ที่ใช้ในการเก็บกู้วัตถุระเบิด ร่วมกับ นายพงษ์เดช เรือนละหงส์ หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคแพร่ และนักศึกษาชั้น ปวช.2 แผนกอิเล็กทรอนิกส์ นำหุ่นยนต์ที่ร่วมกันประดิษฐ์มาทดสอบใช้ในการเก็บกู้วัตถุระเบิด ให้นักศึกษาได้ทดลองเพื่อต่อยอดและปรับปรุง ก่อนจะส่งมอบให้นำไปใช้ในพื้นที่จริง โดยจะมีการพัฒนาและปรับปรุงระบบไปเรื่อยๆ ซึ่งมีจุดหมายเพื่อต่อยอดไปถึงการควบคุมแบบไร้สาย โดยใช้งบประมาณไม่ถึงหนึ่งแสนบาท
นายพงษ์เดช เรือนละหงส์ กล่าวว่า ทางวิทยาลัยเทคนิคแพร่ โดยแผนกอิเล็กทรอนิกส์ และนักศึกษา ระดับ ปวช. 2 มีเรียนวิชาหุ่นยนต์เบื้องต้น ที่ผ่านมาเราได้นำหุ่นยนต์ไปแข่งขันทั้งในระดับภาค และระดับประเทศเราจึงได้มีการคิดกันว่า เราจะสามารถทำอะไรให้กับสังคมได้บ้าง จึงได้คิดค้นและได้ทำงานร่วมกับหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดตำรวจภูธรจังหวัดแพร่ จึงได้โปรเจคนี้ขึ้นมา วันนี้จึงเป็นการทดสอบความแข็งแรงของหุ่นยนต์ เพื่อจะได้นำข้อผิดพลาดนำไปปรับแก้และพัฒนาให้ใช้งานได้จริง ซึ่งหุ่นยนต์ประเภทนี้มีขายแต่ราคาอยู่ที่ 12 ล้านบาท แต่ครั้งนี้ใช้งบประมาณไม่ถึง 100,000 บาท โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนเรื่องงบประมาณ ในอนาคตนั้นมองว่าจะพัฒนาไปถึงเทคโนโลยีไร้สาย ที่จะมีการถ่ายทอดภาพ ณ ขณะนั้นมาให้ผู้บังคับได้เห็น ซึ่งระยะการทำการควรมากกว่า 25 เมตร อยู่ที่ขนาดของพื้นที่ เราจะต้องมีทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟแวร์ ในลักษณะเป็นรถกึ่งโฟร์วิล ซึ่งสามารถขับเคลื่อนได้เลยทาง ร.ต.อ.วิษณุ ชมพูเมืองชื่น กล่าวว่า จากการทดสอบแล้ว เชื่อว่าหุ่นยนต์นั้นจะใช้ได้จริง เชื่อมั่นในงานประดิษฐ์ของวิทยาลัยเทคนิคแพร่ และอยากผลักดันน้องๆ ให้หันมาสนใจเรื่องของหุ่นยนต์ เรื่องเทคโนโลยีสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาให้มีส่วนร่วม เป็นภาพรวมที่สวยงาม จากการทดสอบเป็นการทดลองการรับน้ำหนัก รับแรงกระแทกจากการทดสอบแล้ว ถือว่าสามารถรับแรงจากทิศทางการยิงได้ ซึ่งน้องๆ ได้เห็นของจริงและนำไปพัฒนาออกแบบและปรับปรุงให้เกิดความก้าวหน้าได้ เพราะการทำหุ่นยนต์ขึ้นมาเองนั้น กรณีที่เกิดอุบัติเหตุขึ้น หุ่นยนต์ได้รับความเสียหาย เราสามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้ หรือซ่อมแซมได้ แต่หากเป็นหุ่นยนต์ที่ซื้อมาจากต่างประเทศราคาสูง คนใช้เองก็เกรงว่าจะต้องมาชดใช้ เป็นความสบายใจของผู้ใช้อย่างหนึ่ง หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาเรายังสามารถรับผิดชอบได้ ในส่วนของเพื่อนๆนักศึกษา วิทยาลัยเทคนิคแพร่ ต่างทึ่งในฝีมือ และผลงานของเพื่อนที่สามารถทำได้ถึงขนาดนี้ต่างยกนิ้วให้
ธีรพงษ์ ธงออน/แพร่